โดย ครูปรีณาพรรณ พิมพ์พิศาล
การแทรกสอดของคลื่นในรูป 5.3-7 ให้ S1 และ S2 เป็นแหล่งกำเนิดอาพันธ์สร้างคลื่น
2 คลื่นเคลื่อนที่มาพบกันและเกิดการซ้อนทับกัน (กำหนดให้เส้นสีน้ำเงินแทนสันคลื่น
เส้นสีแดงแทนท้องคลื่น) โดยตำแหน่งที่สันคลื่น พบท้องคลื่น(เส้นสีน้ำเงินทับเส้นสีแดง)
การกระจัดของคลื่นทั้งสองจะหักล้างกัน ทำให้ผิวน้ำไม่กระเพื่อม เรียกว่า เกิดการแทรกสอด
แบบหักล้าง (destructive interference) ตำแหน่งที่ผิวน้ำไม่กระเพื่อมหรือหรือมีการ
กระจัดเป็นศูนย์ เรียกว่า บัพ (node) และเรียกเส้นที่เชื่อมต่อบัพต่าง ๆ ว่า เส้นบัพ
(nodal line) เขียนแทนด้วย N แต่ถ้าสันคลื่นพบสันคลื่น(เส้นสีน้ำเงินทับสีน้ำเงิน)
หรือท้องคลื่นพบท้องคลื่น(เส้นสีแดงทับสีแดง) การกระจัดของคลื่นทั้งสองจะเสริมกัน ทำให้
ผิวน้ำ ณ ตำแหน่งนั้นมีระดับสูงขึ้นมากที่สุดหรือลดต่ำมากที่สุดตามลำดับ เรียกว่า
เกิดการแทรกสอดแบบเสริม (constructive interference) ตำแหน่งที่ผิวน้ำ
กระเพื่อมมากที่สุดหรือมีการกระจัดมากที่สุด เรียกว่า ปฏิบัพ (antinode) และเรียกเส้น
ที่เชื่อมต่อปฏิบัพต่างๆ ว่า เส้นปฏิบัพ (antinodal line) เขียนแทนด้วย A
การแทรกสอดของคลื่นต่อเนื่องวงกลมสองคลื่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดอาพันธ์
จากรูป 5.3-7 จะสังเกตเห็นว่า แนวปฏิบัพ A มีได้หลายค่า คือ เริ่มตั้งแต่ A0 , A1, A2, ...
ซึ่งตัวห้อย 0 , 1 , 2 , ... แสดงว่าเส้นปฏิบัพนั้น ๆ เป็นเส้นที่เท่าใด โดยเส้นที่อยู่ในแนวกลาง
จะเป็นเส้นที่ 0 ดังนั้นจึงระบุเส้นนี้ด้วยเส้นปฏิบัพที่ A0 และถัดออกไปทั้งด้านซ้ายและขวาจะ
เหมือนกันคือ เป็น A1, A2,... ตามลำดับ
และจะสังเกตรูป 5.3-7 จะเห็นว่า แนวบัพ N มีได้หลายค่า คือ เริ่มตั้งแต่ N1 , N2, N3, ...
ซึ่งตัวห้อย 1 , 2 ,3 , ... แสดงว่าเส้นบัพนั้น ๆ เป็นเส้นที่เท่าใด โดยเส้นที่อยู่ถัดจากแนวกลาง
ออกไปทางด้านซ้าย และด้านขวา จะเป็นเส้นที่ 1 ดังนั้นจึงระบุเส้นนี้ด้วยเส้นบัพที่ N1 และ
N2 ,N3, N4, ... ตามลำดับ
จากรูป 5.3-6 ที่ผ่านมา เราสามารถนำมาวาดเป็นลักษณะลายเส้นของการแทรกสอดได้
ดังรูป 5.3-7
(ที่มา: ปรีณาพรรณ พิมพ์พิศาล)