โดย ครูปรีณาพรรณ  พิมพ์พิศาล

คลื่นนิ่ง 1/9
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. ทดลองคลื่นนิ่งในเส้นเชือก
2. สืบค้นและอธิบายการเกิดคลื่นนิ่งของคลื่นผิวน้ำและคลื่นนิ่งในเส้นเชือก


รูปที่ 6-1 ภาพเคลื่อนไหวคลื่นนิ่งในเส้นเชือก (คลิกดูวิดีโอการทดลอง) 


    จากรูป 6-1 นักเรียนทราบหรือไม่ว่าการเกิดคลื่นในเส้นเชือกลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นได้อย่างไร
และมีตัวแปรใดที่ทำให้เกิดคลื่นในลักษณะนี้ได้ นักเรียนจะได้ศึกษาในหัวข้อนี้

    ในหัวข้อนี้จะศึกษาการแทรกสอดของคลื่นกรณีเฉพาะกรณีหนึ่ง โดยเป็นการแทรกสอดที่เกิดจาก
การเคลื่อนที่ของคลื่น 2 คลื่น ที่มีแอมพลิจูด ความยาวคลื่น และความถี่เท่ากัน แต่เคลื่อนที่
ในทิศตรงกันข้าม ยกตัวอย่าง เช่น นำปลายเชือกด้านหนึ่งผูกตรึงแน่น จากนั้นสะบัดปลายเชือก
อีกด้านหนึ่งให้เกิดคลื่นบนเส้นเชือกดังรูป 6-2 คลื่นนี้จะเคลื่อนที่ไปสะท้อนกับปลายเชือก
ด้านที่ถูกยึดไว้ แล้วเกิดคลื่นสะท้อนเคลื่อนที่กลับมาในทิศตรงกันข้าม โดยคลื่นตกกระทบ
กับคลื่นสะท้อน 2 คลื่นนี้มี แอมพลิจูด ความยาวคลื่น และความถี่เท่ากันแต่เคลื่อนที่ในทิศ
ตรงกันข้าม เมื่อ 2 คลื่นนี้แทรกสอดกัน ผลของการแทรกสอดจะทำให้เกิดคลื่นซึ่งอยู่นิ่ง
เป็นช่วง ๆ ทั้ง ๆ ที่คลื่นตกกระทบกับคลื่นสะท้อนไม่ได้อยู่นิ่งดังรูป 6-1 ให้เรียกคลื่น
จากการแทรกสอดนี้ว่า คลื่นนิ่ง (standing wave)

รูปที่ 6-2 การสะบัดเชือกให้เกิดคลื่นนิ่ง  (ที่มา: พงษ์ศักดิ์ ชินนาบุญ., 2557, หน้า 120)

คลิกดูวิดีโอ
การทดลอง
ของ สสวท.
เรื่อง คลื่นนิ่ง

คลิกดูวิดีโอ
การทดลอง
ของนักเรียน
เรื่อง คลื่นนิ่ง